ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พลิกชะตาของเศรษฐกิจไทยจริงหรือ?

“ในยุคที่อะไรๆ ก็ขึ้นราคา ยกเว้นค่าแรง เป็นคำที่ถูกพูดถึงกันบ่อยมากในภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อ ที่ค่าครองชีพของทุกคนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้ทั้งกับประชาชน ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ยิ่งราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน และอาหาร ก็แพงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดกระแสการขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ ตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น”
ปัจจุบัน จากแถลงข่าว”ดัชนีเศรษฐกิจการค้า” ของกระทรวงพาณิชย์

ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 4.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 5.73 เนื่องจากฐานที่สูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้าจากการสิ้นสุดมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ในปี 2564 ประกอบกับ

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ มีสินค้าสำคัญอื่น ๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด และเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ก๊าซหุงต้มที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากการสิ้นสุดระยะเวลาตรึงราคาโดยมีการทยอยปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได และสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ตามต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติสอดคล้อง กับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน

(สามารถดูรายละเอียดเพี่มเติมได้ที่ http://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_admin_sum/indices_all.pdf )

ในหลายยุคหลายสมัยประเทศไทย ปรับค่าแรงขั้นต่ำ มาแล้วหลายครั้ง หากจะย้อนไปดูอัตราค่าจ้างขั้นต่ำช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าเพิ่มขึ้นเพียง 13-36 บาท/วัน เท่านั้น ความต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากด้วยเหตุผลว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถช่วยลดช่องว่างด้านรายได้แล้ว  ยังเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ด้วย

แต่สิ่งที่ต้องคิดควบคู่กันไปด้วยคือเราควรขึ้นค่าแรงด้วยแนวทางไหนที่จะช่วยให้แรงงานและเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้ในระยะยาว ซึ่งเราอาจถอดบทเรียนจากการวิกฤตที่เคยเกิดขึ้น กับแนวทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เคยเกิดขึ้นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

เมื่อครั้งวิกฤตต้มายำกุ้งปี 2540 จนถึงปี 2555

พบว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2544-2554 ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.8% ขณะที่เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.7 % ผลจากการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างดีราว 4-7 % จากการบริโภคของคนไทยและการลงทุนของภาคธุรกิจ แม้ว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระ แต่จากการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ชี้ให้เห็นว่า หากค่าแรงเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น 0.01% เท่ากับว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีในช่วงเวลานั้น ค่าแรงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.8% ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.03% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปี 2556 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาท จาก 245 บาท ทั่วประเทศ 70 จังหวัด ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศขยับเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อในช่วงเวลานั้นอยู่ที่ 2-3%  จากศึกษาการปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดในครั้งนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงให้เห็นว่า การปรับค่าแรงอย่างก้าวกระโดด ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นถึง 0.6% ซึ่งเท่ากับว่า เมื่อค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 20% สร้างภาระต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการสูงถึง 12% ส่งผลให้ GDP ของไทยลดลงถึง 1.7% เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น การบริโภคของคนไทยเติบโตขึ้น เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อ แต่ในภาคของการลงทุนกลับติดลบ 2 ปีติดต่อกันที่ -1.0% และ -2.2% ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ สาเหตุจากค่าแรงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

ในปี 2560,2561,2563 ได้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น อีกปีละครั้ง ซึ่งค่าเฉลี่ยของทั้ง 3 ครั้งอยู่ที่ 2% ท่ามกลางเงินเฟ้ออยุ่ที่ราว 1% ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตในเกณฑ์ที่ดีที่ 3-4%

จะเห็นได้ว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำ หากทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป สามารถที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานจำนวนหนึ่งได้จริง ช่วยให้ภาคธุรกิจมีเวลาในการปรับตัว ตลอดจนช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด จะกลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับ และอาจเกิดการตกงานจากการถูกเลิกจ้างครั้งใหญ่ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

แต่ถึงอย่างไรการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยหากทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ก็จะสามารถเปลี่ยนชะตาของเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด

“ สิ่งหนึ่งที่แรงงานเองควรตระหนักถึงคือ การพัฒนาความรู้ให้ทันต่อเทคโนโลยี เพราะภายใต้บริบททางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกกำลังพลิกโฉม แรงงานมีความเสี่ยงสูง ที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หากแรงงานไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้การถูกเลิกจ้างก็จะเป็นสิ่งที่แรงงานต้องเผชิญ”