“สิทธิประโยชน์ 3 ขอ” ขอเลือก-ขอคืน-ขอกู้

สปส.เปิดทางออกผู้ใช้แรงงาน ม.33 หลังการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน “3 ขอ” สามารถ “ขอเลือก-ขอกู้-ขอคืน” เพื่อเป็นทางเลือกสิทธิประโยชน์ได้เองตามความต้องการ

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ อันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน หรือเรียกว่า “3 ขอ”

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม กรณีชราภาพ ได้แก่ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้…

1. ขอเลือก

ตามกฎหมายประกันสังคมฉบับเดิม กำหนดว่าผู้ที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน และเป็นผู้ที่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในอายุ 55 ปี จะได้สิทธิรับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในอายุ 55 ปี แต่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้สิทธิชราภาพในการรับเงินบำเหน็จ

อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ทำให้ผู้รับเงินบำนาญบางราย ซึ่งมีความต้องการที่จะรับเงินเป็นบำเหน็จตามเหตุผลส่วนตัวของแต่ละราย ทางกระทรวงแรงงานจึงได้ให้ สปส. หาทางออกให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน สามารถรับเป็นบำเหน็จได้ตามความต้องการดังนี้

 

กฎหมายฉบับใหม่

  • ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี ที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำเหน็จชราภาพ หรือบำนาญชราภาพ
  • สำนักงานประกันสังคม มีการรับประกันการรับเงินบำนาญชราภาพ 60 เดือน
  • หากผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพแล้ว เกิดเหตุไม่คาดฝัน เสียชีวิตในเดือนที่ 1 หรือเดือนที่ 2 ทายาทจะได้รับอีก 58 เดือน
  • ขอเลือกรับบำเหน็จชราภาพ คือ รับเงินจำนวน 60 เดือนไปก่อน เมื่อถึงเดือนที่ 61 ก็มาเลือกรับบำนาญ หรือเรียกว่ารับเงินก้อนก่อน 60 เดือน

เช่น ถ้าคิดเป็นเงินบำนาญชราภาพ ท่านจะได้รับ เดือนละ 5,000 บาท x 60 เดือน เท่ากับ 300,000 บาท พอเดือนที่ 61 หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่เสียชีวิต ก็ยังสามารถมารับเงินเป็นรายเดือนต่อไปได้

2. ขอคืน (บางส่วน)

เป็นการขอคืนเงินบางส่วนจากเงินสมทบที่ส่งมายังประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 60 เดือน และมีเงื่อนไขว่าต้องเกิดเหตุการณ์วิกฤตในประเทศ หรือพื้นที่นั้นๆ ออกมาประกาศชัดเจน เช่น วิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตภัยพิบัติ หรือโรคระบาด ที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถออกมาทำงานได้อย่างปกติ แต่หากเป็นวิกฤติเรื่องส่วนตัวจะไม่สามารถขอคืนได้

ขณะนี้ กฎหมายหลักระบุเพียงว่าขอคืน แต่รายละเอียดของการคืนนั้น กฎหมายรองจะมีรายละเอียดสนับสนุนกฎหมายหลักว่า ให้คืนอย่างไร คืนสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ และต้องส่งเงินสมทบมาแล้วกี่เดือน กฎหมายรองจะออกรายละเอียดตามมาเป็นลำดับต่อไป

3. ขอกู้

มาจากการที่ผู้ประกันตนเกิดความเดือดร้อน และมีคำถามถึงความต้องการกู้เงินของตนเองที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่เนื่องจากประกันสังคมไม่มีการปล่อยกู้ ฉะนั้นในส่วนนี้จึงจะต้องทำ MOU กับธนาคารทั้งหมด ซึ่งหากมีธนาคารใดตอบรับข้อเสนอและมีข้อตกลงร่วมกันได้ ก็สามารถทำได้เลย โดยที่ธนาคารก็ต้องไม่คิดดอกเบี้ยแพง เพราะผู้ประกันตนสามารถกู้ได้โดยที่ สปส. เข้าไปสนับสนุนในเรื่องของการค้ำเงินกู้

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังได้ให้ สปส. เข้าไปชี้แจงถึงสถานภาพทางกองทุน ว่าการออกกฎหมาย “3 ขอ” นี้จะทำให้กองทุนมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งทาง สปส. มีกฎหมายรองที่คอยดูแลอยู่แล้วว่าจะสนับสนุนตนเองอย่างไรไม่ให้เสียศูนย์ มีข้อระเบียบและข้อบังคับจากผู้ประกันตนที่ชัดเจน จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องกองทุนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนยังไม่สามารถดำเนินการ 3 ขอ ได้ในขณะนี้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยขณะนี้ยังอยู่ที่กฤษฎีกา สำนักงานประกันสังคม คาดว่า หากเป็นไปตามกรอบหรือขั้นตอนที่วางไว้ จะสามารถใช้ได้จริงช่วงกลางปี 2566