Emotional Support ชูใจให้เพื่อนร่วมงาน หรือ คนใกล้ตัว

บางทีที่เห็นเพื่อนร่วมงาน คนใกล้ชิดเรารักกำลังทุกข์ อยากเข้าไปเป็นที่พึ่งทางใจ ประคับประคองให้เขาผ่านช่วงเวลายากๆ ไปได้ แต่ก็ไม่รู้วิธีการว่าทำอย่างไร วันนี้เราจะมาดูแนวทางการเป็น Emotional Support ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องใช้คำพูดแบบไหน คำพูด น้ำเสียง หรือท่าทีแบบไหนที่เป็นการตัดสิน เพื่อให้เราดูแลใจกันอย่างถูกวิธีและไม่กลายเป็นการสร้างบาดแผลให้กัน

Emotional Support

คือ “ที่พึ่งทางความรู้สึก สภาพจิตใจ และอารมณ์” ซึ่งจะมาช่วยใครสักคนที่กำลังมีอาการเจ็บป่วยทางใจ รู้สึกดาวน์หรือกำลังดำดิ่งในความรู้สึกแย่ ๆ ให้สดชื่นยิ่งขึ้น ลดความหม่นหมองในใจ และมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป เป็นการรักษาหรือการพยาบาลเพื่อช่วยลดความเครียดและป้องกันผลกระทบจากความเครียด

ในอีกทางหนึ่ง Emotional Support ยังหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่เป็นที่พึ่งทางใจให้กับเราได้ และช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ซึ่งบางคนอาจจะคุ้นเคยกับการให้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจให้กับตัวเอง การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือที่สำคัญคือการมีใครสักคนไว้ให้ระบายความรู้สึกภายในจิตใจ

แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าเพื่อนร่วมงานต้องการ Emotional Support
  1. รับฟัง พื้นฐานของการแก้ปัญหาทางจิตใจให้กับใครสักคนก็ต้องเป็นการรับฟังปัญหาของเขา การรับฟังใครสักคนไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท แต่คนที่กำลังอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจนั้นต้องการแค่ใครสักคนที่จะคอยรับฟังเขาในเวลาที่จิตใจอ่อนไหว เป็นเซฟโซนให้เขาได้ ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน คอยปลอบโยนและSupport ความรู้สึกให้กับเขาได้จริง ๆ
  2. สังสรรค์กันบ้าง หลายครั้งปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกก็เกิดมาจากความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน ๆ แม้แต่คนที่มีสุขภาพจิตที่ดีก็ยังเซได้หากต้องเก็บตัว ไม่เจอผู้คน ไม่มีเรื่องสนุกสนานในชีวิตเลย เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นสัตว์สังคมและต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แม้แต่คนที่บอกว่าตัวเองเป็น Introvert ที่สุด ก็ยังต้องการสังคมอยู่วันยังค่ำ หากเพื่อนร่วมงานของเราหม่นหมอง ซึมเซา และเริ่มมีอาการบ่งบอกถึงสภาวะทางจิตใจที่แย่ลง จงพาเพื่อนของคุณไปสังสรรค์ ไปเจอผู้คนบ้าง แล้วทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น
  3. ยอมรับและปรับเปลี่ยน บางครั้งการเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับใครสักคน นอกจากการรับฟังแล้ว กับปลอบโยนและเตือนสติก็เป็นเรื่องสำคัญ พยายามใช้คำพูดที่ทำให้เขารู้สึกสบายใจ ยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และเขาไม่ได้กำลังแก้ไขมันอยู่คนเดียว “อะไรจะเกิดก็ต้องให้มันเกิดไป เราทำดีที่สุดแล้ว และทุกอย่างที่เกิดขึ้นมามีเหตุผลของมัน และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งเราต้องยอมรับมัน”
  4. ยื่นมือเข้าช่วยอย่างทันท่วงที คนที่กำลังต้องการ Emotional Support อย่างมากแสดงว่าจิตใจของพวกเขาอ่อนแอมากแล้ว และเมื่อมีเหตุการณ์หรือความรู้สึกใดผุดขึ้นมากระทบจิตใจ ก็หนักหนาสำหรับพวกเขามากแล้ว ดังนั้นในฐานะที่พึ่งทางใจ ควรดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะนี้ เพราะหากปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาคนเดียวบ่อย ๆ อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า หรือเหตุการณ์อันร้ายแรงได้
Emotional Support ไม่ใช่การเทศนา ไม่ใช่การที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้ใครได้ในทันทีทันใด แต่เป็นเรื่องของการรับฟัง สร้างความเข้าใจในผู้ที่อยู่ในอารมณ์แย่ๆ ที่ต้องการ การประคอง หรือเกื้อหนุน ฉะนั้นก่อนที่จะ ไป Support ใคร คุณควรพร้อมในการจะมีเวลารับฟัง และมีความพร้อมด้านอารมณ์ของตัวเองก่อนเช่นกัน การรับฟัง และสื่อสารจึงเป็นหัวใจสำคัญ”
รับฟังเทคนิคเพิ่มเติมได้ที่ พอดแคสต์ R U OK

https://thestandard.co/podcast/ruok234/

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

https://th.hrnote.asia/

https://unsplash.com/