Gen Z “ถ้าทำงานแล้วไม่มีความสุข ก็ลาออกดีกว่า”

“คน Gen Z” คือคลื่นลูกใหม่ที่ก้าวเข้าสู่สังคมคนทำงานอย่างเต็มตัว และเป็นกำลังแรงงานหลักของหลายๆองค์กร แต่สิ่งที่ทุกองค์กรต้องเผชิญคือ เด็กจบใหม่ หรือ Gen Z เหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่ลาออกจากงาน ทั้งที่งานนั้นให้ผลตอบแทนสูง เพียงเพราะ ไม่มีความสุขในการทำงาน   ในบทความนี้เราจะมาลองทำความเข้าใจและแนวความคิดของพวกเขาเหล่า Gen Z กัน
คน Gen Z คือใคร?

คำนิยาม Gen Z คือ คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่เกิดหลังจากปี ค.ศ. 1995 หรือปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เด็ก ๆ กลุ่ม Gen Z นี้จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้เร็ว คนกลุ่ม Gen Z เป็นประชากรที่ก้าวเข้ามาในตลาดแรงงานปัจจุบัน จึงเป็นเจเนอเรชั่นที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

การใช้ชีวิตของคน Gen Z

ชาว Gen Z ซึ่งส่วนใหญ่มีพ่อแม่เป็นชาว Gen X เป็นเจเนอเรชั่นที่เกิดมายุคโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต พวกเขารับข้อมูลข่าวสารมากมายจากอินเตอร์เน็ต พวกเขาพิจารณาคำพูดและการกระทำของคนในเจเนอเรชั่นก่อน ๆ อย่างเป็นกลาง ในมุมมองที่กว้าง พวกเขาต้องการแก้ปัญหาทางสังคมที่อาจเกิดจากคนในเจเนอเรชั่นก่อน ๆ โดยการให้ความสำคัญกับตนเอง ครอบครัว และคนรอบตัวอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมร่วมมือกันแก้ปัญหาถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างระหว่างกัน

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ ฮิลล์ อาเซียน ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ส่วนตัว คุณค่าของชีวิต ทัศนคติและพฤติกรรมต่อสื่อของกลุ่ม Gen Z ไว้ดังนี้
  • ความสัมพันธ์ส่วนตัว จะมีความสัมพันธุกับพ่อแม่ แบบไม่เป็นทางการนัก คือเป็นเหมือนเพื่อน ที่สามารถพูดคุยได้อย่างตรงไปตรงมา มีอิสระ ทำให้ดูไม่ค่อยแคร์สิ่งต่างๆ และนึกถึงแต่ตัวเองก่อน แต่จริงๆแล้วพวกเขาก็ยังคงปฏิบัติตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมและสิ่งอื่น ๆ รอบตัว แสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ทั้งกับครอบครัวและคนรอบข้าง
  • สิ่งสำคัญในชีวิต Gen Z ถูกมองว่าเป็นกลุ่มสุดโต่ง คิดถึงแต่เรื่องตัวเอง แต่จริงๆแล้ว คนกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับความมั่นคง ความสุขทางใจ และครอบครัว สุขภาพทางจิตใจ ความพึงพอใจถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของการตัดสินใจ
  • การใช้โซเชียลมีเดีย กลุ่ม Gen Z มีการใช้โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มเพื่อประโยชน์ที่แตกต่างกัน พวกเขาใช้เฟซบุ๊กเพื่อรับข้อมูลข่าวสารมากกว่าจะแชร์เรื่องราวของตัวเอง อินสตาแกรมเพื่อแชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวันผ่านฟีเจอร์ Story และติดตามเทรนด์และไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ ใช้ทวิตเตอร์ในการคลายเหงา แสดงความคิดเห็น และใช้ Tiktok ในการผ่อนคลาย แต่ Gen Z จะมีคาแร็กเตอร์ที่แสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของตนเอง
  • ความสนใจประเด็นเชิงสังคม Gen Z ส่วนใหญ่ต้องการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งอาจเกิดจากเจเนอเรชั่นก่อนหน้า รวมถึงความกังวลด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยร่วมกันแก้ไขกับคนในกลุ่มเดียวกัน
แนวคิดเกียวกับการทำงาน

ผลการศึกษา Workmonitor global จาก Randstad บริษัทจัดหางานอันดับสองของโลก แสดงให้เห็นว่า ในการทำงาน Gen Z ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เพื่อตัดสินใจว่าจะทำงานหรือไม่กับบริษัท หรือองค์กร

  • เลือกจากไลฟ์สไตล์ และความสุข ของตนเองมาเป็นอันดับต้น
  • อันดับสอง ค่านิยมของบริษัท ที่ไม่ขัดต่อค่านิยมด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมของตัวเอง
  • สิ่งจูงใจและผลประโยชน์
  • ความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงา-เวลาทำงาน
  • พื้นที่สำหรับการพัฒนาตนเอง
จากผลการวิจัยที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น การที่บริษัทจะมัดใจหรือดึงดูดให้คน Gen Z เก่งๆ มาเข้าร่วมงานด้วย องค์กรจึงต้องมีสิ่งที่ดึงดูดในด้งนี้
  • วิสัยทัศน์ขององค์กร หรือ Vision ตรงใจ ผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์กว้างไกลรับกับเมกะเทรนด์ใต้โลกดิจิทัล จะยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้ชาว Gen Z วิ่งเข้าหา อยากสมัครงานกับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์แบบนี้ เพราะอยากมีส่วนร่วมสร้างการเติบโตกับบริษัทเช่นนี้
  • เงินเดือนคือเรื่องรอง หนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงหลายคนมีความคิดว่า เมื่อตัดสินใจเข้ามาทำงานแล้ว ก็จะทุ่มเททำงานให้อย่างเต็มกำลังและความสามารถ เพราะฉะนั้นองค์กรที่ดีจึงควรให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับแรงกายและแรงใจของเราด้วยเช่นกัน ซึ่งการให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่านี้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสวัสดิการ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ความสุข ความยืดหยุ่น ความน่าตื่นเต้นท้าทายของตัวงานอีกด้วย
  • หน้าที่ความรับผิดชอบงานต้องมาก่อน คน Gen Z เมื่อได้รับมอบหมายงานให้ทำ นอกจากจะใช้ความรู้ความสามารถในการทำงานแล้ว ยังเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อปูทางสู่โอกาสความก้าวหน้าการทำงานในอนาคตอีกด้วย พวกเขาจึงมักจะทุ่มเทกับงานเต็มที่ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดแล้วนำประสบการณ์นั้นไปต่อยอดในอนาคต
  • สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ นี่คืออีกปัจจัยหนึ่งที่จูงใจให้คน Gen Z อยากเข้ามาทำงาน ทั้งสถานที่และเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น การส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาตัวเองด้วยการเข้าร่วมเวิร์กช็อปต่าง ๆ การให้โบนัส รวมไปถึงค่าอาหาร ค่าสมัครฟิตเนส ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจ และให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตพนักงาน รวมถึงการบาลานซ์ชีวิตทำงาน (Work-life balance) อีกด้วย
  • การเดินทางสะดวก เลือกทำงานกับบริษัทที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า หรือระยะเส้นทางที่ไม่ไกลบ้านมากเกินไป เพื่อประหยัดเวลา ไม่อยากเผชิญปัญหารถติด และลดค่าใช้จ่ายด้วย
ด้วยแนวทางเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงภารกิจเร่งด่วนที่บริษัทต้องทำ คือการจัดทำแผน จัดทำโครงสร้างใหม่ เพื่อดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาภายในองค์กร สำหรับรองรับ คน Gen Z
  1. การปรับระบบบริหารงาน จากโครงสร้างเดิมที่ติดภาพเก่าการบริหารแบบ “บนลงล่าง” หรือแนวตั้งที่ผู้นำสั่งการลงมาตามลำดับชั้น ซึ่งทำให้การทำงานมีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นในโลกดิจิทัล ควรเปลี่ยนเป็น “Agile” ที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรเน้นการทำงานเป็นทีม ช่วยเพิ่มความคล่องตัว ว่องไว และมีความยืดหยุ่นสูง
  2. ลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยี รองรับการบริหารรูปแบบใหม่ ปัจจุบันกำลังคนทำงานที่เป็นรุ่นใหม่ทั้ง Gen Y และ Gen Z การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีให้พวกเขาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ จะยิ่งสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ตามความถนัด ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
  3. เปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็น การให้อิสระในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น จะช่วยดึงศักยภาพในตัวคนทำงาน ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์แก่บริษัทได้มากขึ้น นอกจากนี้ การให้ความสำคัญเรื่องความสำเร็จเฉพาะตัวบุคคลแก่พนักงานก็ยิ่งเป็นแรงส่งให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกมีความสุข และสนุกกับการทำงานกับองค์กรนี้ไปอีกนาน
“เพราะในโลกของการทำงานของคน Gen Z เรื่องของเงินเดือน ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ด้วยพื้นฐานที่มองว่า อนาคตของตัวเองต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวันนี้ การจะดึงดูดและรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้ให้ได้ องค์กรต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ก่อนที่จะต้องพบเจอปัญหาด้านบุคคลากรอย่างรุนแรง”

ที่มาข้อมูลจาก https://www.prosoft.co.th/  https://workpointtoday.com/

ภาพจาก  https://www.pexels.com/