วิธีคำนวณ OT ตามหลักกระทรวงแรงงานที่พนักงานเงินเดือนต้องรู้!

สำหรับหลายๆคน คงจะรู้กันอยู่แล้วว่า การทำงานล่วงเวลา หรือการทำ OT ถือเป็นเรื่องปกติ ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องพบเจอบ่อยๆ แต่เชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายๆคนที่ยังไม่รู้ว่าการทำงานล่วงเวลานั้นมีวิธีการคิด OT หรือผลตอบแทนที่คุณควรได้รับจะได้อย่างไร รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นผลประโยชน์ต่อตัวพวกคุณเอง..  ดังนั้นวันนี้เรามีวิธีคำนวณ OT มาให้พวกคุณได้ศึกษาค่ะ

โอที ( OT ) คืออะไร

คือ การทำงานล่วงเวลาจากการทำงานปกติ หรือมาทำงานในวันที่ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุด ซึ่งการทำโอที จะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง นายจ้างไม่สามารถบังคับให้ลูกจ้างทำได้หากไม่ยินยอม อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป อย่างไรก็ตาม ยกเว้นในกรณีที่งานนั้นเป็นงานต่อเนื่องที่ไม่สามารถหยุดได้ เช่น การยกคานสะพานที่ต้องทำจนวางสำเร็จซึ่งอาจใช้เวลามาก, โอทีบางครั้งก็เรียกว่า ค่าล่วงเวลา

สิ่งที่ควรรู้ของการทำ OT ตามกฎกระทรวงแรงงาน
     ในกรณีที่ต้องทำงานล่วงเวลามากกว่าสองชั่วโมง นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักอย่างน้อยยี่สิบนาที แต่ถ้าหากเป็นงานที่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องหรืองานฉุกเฉินก็สามารถให้ทำต่อไปได้ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
ค่าตอบแทนในกรณีทำล่วงเวลาในวันทำงานปกติ

กรณีพนักงานทำงานเกินกว่าชั่วโมงงานปกติของวันทำงาน เช่น เวลางานปกติกำหนดให้พนักงานมาทำงานเวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. แต่พนักงานอาจจำเป็นต้องทำงานให้แล้วเสร็จจึงทำงานจนถึงเวลา 20.00 น. ลักษณะแบบนี้ก็เข้าข่ายที่นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงให้กับพนักงาน โดยมีวิธีคิดดังนี้

  1. กรณีพนักงานรายเดือน
  • สูตรการคำนวณ >> (เงินเดือนหารสามสิบวัน หารชั่วโมงงานปกติ) คูณ 1.5 หรือ 3 เท่า คูณ จำนวนชั่วโมงที่ทำโอที
  • ตัวอย่างวิธีการคำนวณ กรณี ได้ 1.5 เท่า และทำโอที 4 ชั่วโมง >> (15,000 / 30 /8)*1.5*4
  • หลังจากคำนวณตามสูตรคุณจะได้ค่าทำ OT ในวันนั้นเพิ่มอีก 375 บาท
  1. กรณีพนักงานรายวัน
  • สูตรการคำนวณ >> (ค่าจ้างต่อวัน หารชั่วโมงงานปกติ) คูณ 1.5 หรือ 3 เท่า คูณ จำนวนชั่วโมงที่ทำโอที
  • ตัวอย่างวิธีการคำนวณ กรณีได้ 3 เท่า และทำโอที 5 ชั่วโมง >> (300 / 10)*3*5
  • หลังจากคำนวณตามสูตรคุณจะได้ค่าทำ OT ในวันนั้นเท่ากับ 450 บาท
ค่าตอบแทนกรณีทำล่วงเวลาในวันหยุด

กรณีพนักงานทำงานเกินกว่าชั่วโมงงานปกติในวันหยุด เช่น เวลางานปกติในวันหยุดกำหนดให้พนักงานมาทำงานเวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. แต่พนักงานอาจจำเป็นต้องทำงานให้แล้วเสร็จจึงทำงานจนถึงเวลา 20.00 น. ลักษณะแบบนี้ก็เข้าข่ายที่นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงให้กับพนักงานครับ(วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น)

โดยมีวิธีคิดดังนี้

  1. กรณีพนักงานรายเดือน
  • สูตรการคำนวณ >> (เงินเดือนหารสามสิบวัน หารชั่วโมงงานปกติ) คูณ 3 เท่า คูณ จำนวนชั่วโมงที่ทำโอที
  • ตัวอย่างวิธีการคำนวณ กรณี ได้ 3 เท่า และทำโอที 4 ชั่วโมง >> (10,000 / 30 /8)*3*4
  • หลังจากคำนวณตามสูตรคุณจะได้ค่าทำ OT ในวันนั้นเพิ่มอีก 500 บาท
  1. กรณีพนักงานรายวัน
  • สูตรการคำนวณ >> (ค่าจ้างต่อวัน หาร ชั่วโมงงานปกติ) คูณ 3 เท่า คูณ จำนวนชั่วโมงที่ทำโอที
  • ตัวอย่างวิธีการคำนวณ กรณี ได้ 3 เท่า และทำโอที 5 ชั่วโมง >> (350 /10)*3*5
  • หลังจากคำนวณตามสูตรคุณจะได้ค่าทำ OT ในวันนั้นเพิ่มอีก 525 บาท
ค่าตอบแทนกรณีทำงานในวันหยุด

กรณีพนักงานมาทำงานตามเวลางานปกติในวันหยุด เช่น เวลางานปกติในวันหยุดกำหนดให้พนักงานมาทำงานเวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. กรณีเช่นนี้พนักงานมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด (วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น)

โดยอัตราการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

  1. ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด เช่น พนักงานรายเดือน จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่า
  • สูตรการคำนวณ >> (เงินเดือนหารสามสิบวัน หารชั่วโมงงานปกติ) คูณ 1 เท่า คูณ จำนวนชั่วโมงการทำงาน
  • วิธีการคำนวณ>> (15,000 / 30 /8)*1*8
  • หลังจากคำนวณตามสูตรคุณจะได้ค่าจ้างในวันนั้นเพิ่มอีก 500 บาท
  1. ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด เช่น พนักงานรายวัน จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่า
  • สูตรการคำนวณ >> (ค่าจ้างต่อวันหารชั่วโมงงานปกติ) คูณ 2 เท่า คูณ จำนวนชั่วโมงการทำงาน
  • วิธีการคำนวณ>> (350 / 8)*2*8
  • หลังจากคำนวณตามสูตรคุณจะได้ค่าจ้างในวันนั้นเท่ากับ 700 บาท

สรุป

จากที่กล่าวไปข้างต้นทั้งหมด มันคือวิธีคำนวณโอที ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง และหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ให้พวกคุณได้ใช้ในการทำงานของตัวเองกันหลังจากนี้ไปค่ะ