Overtime (OT) กฎหมายที่ทั้งผู้ประกอบการ และลูกจ้างควรรู้

แม้ว่าการทำงานในปัจจุบันจะเริ่มทำงานในจำนวนชั่วโมงที่น้อยลง อันเนื่องจาก ภาวะโรคระบาด (โควิค 19) ในปัจจุบัน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มากขึ้น แต่ก็ยังมีหลากหลายอาชีพที่ต้องการบุคลากรจำนวนมากทำงานล่วงเวลา และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการบริหาร สิ่งที่ทั้งผู้ประกอบการและ ลูกจ้างควรต้องรู้ คือ เรื่องกฎหมายแรงงาน และการสร้างความสมดุลให้กับชีวิตทำงาน

ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ต้องรู้กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเวลาในการทำงาน เช่น การทำงานล่วงเวลา การทำงานนอกเหนือจากเวลางาน หรือกระทั่งการทำงานเป็นกะ เพราะกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในฐานะผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบเกินสมควร และกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาการทำงาน หรือ การทำโอที (Overtime: OT) แก่ลูกจ้าง

กฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลา

ตามปกติแล้วเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานของลูกจ้างไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อรวมเวลาทำงาน 1 สัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง แต่เมื่อต้องให้พนักงานทำงานล่วงเวลา สิ่งที่ผู้ประกอบการและลูกจ้างต้องรู้ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานในด้านทำงานล่วงเวลามี ดังนี้

  • สถานประกอบกิจการ ต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของลูกจ้าง (ส่วนที่เกินจากชั่วโมงการทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง) ไม่เกินสัปดาห์ละ 24 ชั่วโมงใน 1 ปีแรก หลังจากได้รับการรองรับมาตรฐานแล้ว ในปีที่ 2 ต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง และในปีต่อๆ ไปต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นของลักษณะงาน หรือเป็นการทำงานในช่วงสั้นๆ ตามสถานการณ์พิเศษของการดำเนินธุรกิจเท่านั้น
  • ห้ามมิให้ผู้ประกอบการให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ยกเว้นในกรณีหากมีการหยุดงานจะส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานที่ฉุกเฉิน ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นครั้งคราว โดยนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น
  • ผู้ประกอบการอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม สโมสร สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่การผลิต การจำหน่ายและการบริการ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป
  • ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์

การจ่ายค่าล่วงเวลาและการทำงานวันหยุด กฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้

  • การทำงานเกิน 8 ชั่วโมง กรณีค่าจ้างรายเดือน หากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ให้ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน
  • การทำงานเกิน 8 ชั่วโมง กรณีไม่ได้รับค่าจ้างรายเดือน หากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างรายเดือน ให้นายจ้างจ่ายค้าจ้างในวันทำงานสำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง ต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าเท่าครึ่งของอัตราค่าจ่างต่อชั่วโมงในวันงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกิน หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ในชั่วโมงที่ทำเกิน
  • การทำงานในวันหยุด ให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดสำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมงและจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินหรือไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ในชั่วโมงที่เกินโดยคำนวณเป็นหน่วย
สิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรละเลย

คือ การเสริมสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีในการทำงานล่วงเวลาให้กับพนักงาน ได้แก่

  • เช็กลิสต์ชั่วโมงการพักผ่อน การทำงานล่วงเวลาของพนักงาน ควรต้องใส่ใจว่ามีเวลาพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงานและขณะเดียวกันการทำงานที่หนักจนเกินไปไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของการทำงาน
  • เรื่องสุขภาพก็สำคัญ ควรใส่ใจสุขภาพของพนักงานโดยการเช็คเรื่องการลาป่วย เนื่องจากผู้ที่ทำงานล่วงเวลาจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว โดยมีโอกาสเสี่ยงเกิดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • ปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ สร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับพนักงานมองถึงการทำงานล่วงเวลาเป็นโอกาสในการขัดเกลาทักษะและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และโอกาสการเลื่อนขั้นในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เร็วขึ้น
  • ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เมื่อทำงานล่วงเวลาในสัปดาห์แรก สัปดาห์ต่อไปต้องลดเวลาทำงานลงโดยให้เป็นไปตามชั่วโมงงานที่กำหนด เพื่อสร้างสมดุลชีวิตให้กับพนักงานทั้งในส่วนตัวและการบริหารเวลาครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่าจ้าง เป็นแรงจูงใจให้พนักงานทำงานล่วงเวลา แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องหมั่นตรวจสอบผลประโยชน์ของพนักงานที่ได้รับ เช่น พนักงานได้รับค่าจ้างหรือไม่อย่างไร  แม้ว่าการทำงานล่วงเวลา พนักงานจะได้รับ ‘ค่าจ้าง’ มากขึ้นและเป็นแรงจูงใจให้หลายคนอยากทำงานมากขึ้น

แต่การทำงานล่วงเวลา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน จากการทำงานหลายชั่วโมงมากเกินไป ความรู้สึกเหนื่อยล้าและความเครียด อาจทำให้พนักงาน Burnout(หมดไฟในการทำงาน) หรือหากเกิดกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างโดยไม่มีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย อาทิ เมื่อลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

“ สำหรับกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยนายจ้างต้องชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผลคดี คดีอาญา “

สุดท้ายแล้วทั้งผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ต้องหาจุดสมดล เพื่อให้การบริหารงานไปถึงจุดมุ่งหมายขององค์กร แต่ยังคงรักษาความสุขในการทำงาน ทำให้ลูกจ้างมีใจในการทำงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลบทความ และรูปภาพจาก https://www.antifakenewscenter.com https://th.jobsdb.com

https://thaiwinner.com/overtime-management/