ยื่นภาษี 2565 สรุปเงินได้บุคคลธรรมดา สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีมาดูกันสิว่าจะมีสิทธิ์ลดหย่อนและการขอคืนอย่างไรบ้าง เราได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้แล้ว ก่อนยื่นภาษีภายใน 31 มี.ค. 65 สำหรับผู้ที่ยื่นผ่านสรรพากร ส่วนกรณียื่นผ่านอินเตอร์เน็ต ภายใน 8 เม.ย. 65 รวบรวมให้ครบแล้วที่นี่

สรุปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีรายการอะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง

ผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ซึ่งกรมสรรพากร กำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการ กรณียื่นแบบกระดาษภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565  และกรณียื่นผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 8 เมษายน 2565   สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้างและได้เท่าไร  รายละเอียดดังนี้ 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

1.ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

2.ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (คู่สมรสต้องไม่มีรายได้ )

3.ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาทต่อคน

  •  จะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20 ปี – 25 ปีและกำลังศึกษาอยู่  ในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถก็สามารถลดหย่อนภาษีได้  และในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  • หากเป็นบุตรตามกฏหมายสามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน
  • หากเป็นบุตรบุญธรรมสามารถลดหย่อนได้เพียง 3 คนเท่านั้น
  • หากบุตรตามกฎหมายเกิน 3 คนไม่สามารถนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้
  •  หากจะนำทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรมมาลดหย่อน ให้นำบุตรตามกฎหมายมาลดหย่อนก่อน

4.ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง สำหรับเด็กแฝดลดหย่อนได้แค่ 60,000 บาท เพราะถือเป็นการตังครรภ์ครั้งเดียว

  • สามี – ภรรยาจะต้องตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนนี้
  • หากยื่นภาษีและเสียภาษีร่วมกัน ผู้ที่ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
  • หากนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

เงื่อนไข : หักตามค่าใช้จ่ายจริงทั้งค่าตรวจครรภ์ ค่าฝากครรภ์ ค่าทำคลอด ค่าบำบัด ค่าพักฟื้นในโรงพยาบาล

5.ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท

6.ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน

เงื่อนไข : ผู้ทุพพลภาพต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และผู้มีรายได้จะต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฏหมายว่าด้วย “การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”

ลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน

ผู้ประกันตน มาตรา 33

สำหรับมนุษเงินเดือนโดยทั่วไป โดยปกติแล้วเงินสมทบมาตรา 33 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง ไม่เกิน 9,000 บาท (750×12 เดือน = 9,000 บาท)

แต่ ❗❗ ปี 2564 มีการลดอัตราเงินสมทบ ม.33 จะลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท ดังนี้

  • เดือน ม.ค. 64 ส่งเงินสมทบ 3%  สูงสุด 450 บาท
  • เดือน ก.พ.-มี.ค. 64 ส่งเงินสมทบ 0.5% สูงสุด 75 บาท
  • เดือน เม.ย.-พ.ค. 64 ส่งเงินสมทบ 5% สูงสุด 750 บาท
  • เดือน มิ.ย.-พ.ย. 64 ส่งเงินสมทบ 2.5% สูงสุด 375 บาท
  • เดือน ธ.ค. 64 ส่งเงินสมทบ 5% สูงสุด 750 บาท

2.ประกันชีวิต ประกันแบบสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เงื่อนไข :

  • ประกันสุขภาพ ต้องไม่เกิน 25,000 บาท
  • เป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย

3.ประกันสุขภาพของบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

เงื่อนไข :

  • บิดา – มารดา ต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีที่หักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท  ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

4.เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

เงื่อนไข :

  • ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย
  • จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
ลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุน 

( ข้อ 1- 5 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ) ประกอบด้วย

  1. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  2. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
  3.  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี  ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  4. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัย

ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

1.เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

2.เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

3.เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

สำหรับรายการการซื้อสินค้า ภายใต้มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ซื้อสินค้าและบริการภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบภาษีในปี 2566 ( วันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค.2566)

ค่าลดหย่อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มนุษย์เงินเดือนสะสมเข้ากองทุนต่อปีตาม % ที่ตัวเองเลือก สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น) ดังนั้น ถ้าหากมนุษย์เงินเดือนคนไหนเลือก % การสะสมที่มากขึ้น ก็หมายความว่า “สิทธิลดหย่อนภาษีตรงนี้จะมากขึ้น ตามไปด้วย” และเป็นการช่วยให้ตัวเองในอนาคตมีเงินเพียงพอสำหรับการเกษียณที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน   แต่ต้องไม่เกิน 15% ของ ค่าจ้าง และไม่เกิน 500,000 บาท เฉพาะเงินส่วนที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น ไม่รวมในส่วนของที่นายจ้างสมทบเข้ากองทุน

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 30,000 บาท สะสมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% จะเป็นค่าลดหย่อนเท่ากับ 18,000 บาท แต่ถ้าเพิ่มเงินสะสมเป็น 15% จะคิดเป็นค่าลดหย่อนเท่ากับ 54,000 บาทเลยทีเดียว

อ้างอิงข้อมูลที่มา :  กรมสรรพากร , สำนักงานประกันสังคม,กลต.

เครดิตบทความและรูปภาพจาก https://www.thansettakij.com/money_market/504529

https://www.thaipvd.com  https://promotions.co.th และ https://www.itax.in.th