Growth Mindset คืออะไร?

Growth Mindset ถูกพูดถึงกันมากในช่วงเวลา สองสามปีนี้ ในฐานะกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวินาที ทั้งจากเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้กระทั้งภาวะโรคระบาด Covic-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

          ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่กล้าเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ไม่กลัวที่จะสำรวจอนาคตแม้จะมืดมิด พร้อมลุยต่อแม้จะเจอความล้มเหลว อยากเรียนรู้สิ่งใหม่แม้จะท้าทาย และยังลุกขึ้นมาใหม่เสมอแม้จะบอบช้ำเพียงใด ซึ่งนั่นเป็นคุณสมบัติหลักของ Growth Mindset ที่ใครหลายคนนิยาม แล้ว Growth Mindset คืออะไรกัน?  มีประโยชน์อย่างไร ? เราจะลองอธิบายง่ายให้เพื่อความเข้าใจกันดู

Growth Mindset คืออะไร?

Mindset คือ กรอบความคิด ความเชื่อหรือทัศนคติที่ชี้นำพฤติกรรมของคน Mindset เป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับในวงการจิตวิทยาและวงการอื่นๆอย่างกว้างขวาง การที่คนคนหนึ่งจะมี Mindset อย่างไรนั้นจะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตของเขา แม้แต่วงการศึกษาระดับโลกก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Mindset เป็นอย่างมาก

สำหรับแนวคิดของ Growth Mindset นั้นมาจากหนังสือ Mindset : The New Psychology of Success ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์ Dr.Carol S. Dweck ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่อง Mindset มาอย่างยาวนาน  โดย Dr.Dweck สังเกตพฤติกรรมเด็กนักเรียน และได้แบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่มี Fixed Mindset และ Growth Mindset ซึ่งสรุปได้ว่า

Growth Mindset คือ กรอบความคิดแบบเติบโต ที่เชื่อว่าสมองของมนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ขึ้นอยู่กับอัตราการเรียนรู้ ความสามารถและสติปัญญาเป็นเรื่องของพรแสวงคนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะไม่ยึดติดกับผลลัพธ์เท่าไหร่ และเชื่อว่า ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็นำไปสู่การพัฒนาได้เสมอ จึงมีความสุขกับการเรียนรู้จากปัญหา มองความล้มเหลวเป็นเรื่องท้าทาย มีความมุมานะที่จะแก้ไขอุปสรรค ไม่ท้อถอย อยากเติบโตเรียนรู้ในทุกๆวัน มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ กล่าวได้ว่าคนที่มี Growth Mindset จะมีชุดความคิดที่ทำให้ก้าวหน้า และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

Fixed Mindset คือ กรอบความคิดแบบยึดติด ที่เชื่อว่าสมองของมนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความสามารถและสติปัญญาเกิดมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และคิดว่าคุณสมบัติ ฉลาด/โง่ เก่ง/ไม่เก่ง เป็นคุณสมบัติตายตัว (fixed) ซึ่งพัฒนากันไม่ได้ คนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติดจะไม่ชอบความท้าทาย มักตีโพยตีพาย ท้อถอยง่าย มีพฤติกรรมอ่อนแอและมักโทษคนอื่น บางครั้งนอกจากตนเองแล้วยังมองคนอื่นว่าไม่มีโอกาสพัฒนาด้วยเช่นกัน เช่น เจ้านายมองลูกน้องว่าไม่มีวันเก่งกว่านี้ได้ ฝีมือไม่ดี ไม่มีทางทำได้ กล่าวได้ว่า คนที่มี Fixed Mindset มีชุดความคิดที่ทำให้ยึดติด ไม่ก้าวหน้า หยุดอยู่กับที่ ส่งผลให้ขาดโอกาสพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จนั่นเอง

ประโยชน์ของการมี Growth Mindset

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณหรือใครก็ตามมี Growth Mindset นั้นคือ คุณจะรู้จักรักที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มองเห็นโอกาสการพัฒนาจากความผิดพลาด โดยนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นประสบการณ์ที่ได้นำมาทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น มีแรงจูงใจจากภายใน มุ่มมั่นที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และมีความสุขในการเรียนรู้เสมอ จากสิ่งที่กล่าวมานั้นจึงพอสรุปถึงประโยชน์ของการมี Growth Mindset ดังนี้

  • ทำให้มองตัวเองในแง่บวก
  • เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
  • มุ่งมั่นและพยายามในการเรียนรู้ตลอดเวลา
  • กระตือรือร้นและกล้า ในการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • สร้างนิสัยชอบพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
  • พร้อมที่จะแลกเปลี่ยน เรียนรู้จากผู้อื่นตลอดเวลา

เพราะ Growth Mindset คือ แนวความคิดที่เชื่อว่าความสามารถของทุกคนนั้นเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ตลอดเวลา ผ่านความพยายาม ไม่ยอมแพ้ แม้ในสภาวะไม่แน่นอนหรือยากลำบาก แต่การมี Growth Mindset จะทำให้บุคคลนั้นกล้าที่จะผ่าฟันเรื่องยาก มองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวต่อไป นับเป็นกระบวนการคิดที่พยายามพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีกว่า และเชื่อว่าสิ่งใหม่นั้นจะดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการมี Growth Mindset จะช่วยให้สามารถพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลได้ แต่การพัฒนาศักยภาพจาก Growth Mindset ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากจะพัฒนาได้ตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคลเท่านั้น ถึงกระนั้นก็นับว่าการเปลี่ยนไปสู่ Growth Mindset อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพของตนได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตต่อไป ซึ่งในบทความต่อไปเราจะพามนุษย์เงินเดือนพัฒนาศักยภาพการทำงานด้วยแนวความคิดแบบ Growth Mindset กันแล้วพบกันใน EP.ต่อไป

.

อ่าน EP ต่อไป >> 9 วิธีในการสร้างและพัฒนา Growth Mindset สำหรับคนทำงาน

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.palagrit.com/

https://th.hrnote.asia/

รูปภาพ

https://unsplash.com/