ใครไม่จ่าย ‘ประกันสังคม’ จ่าย โควิดชนิดไหนก็ไม่หวั่น

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ลูกจ้างที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมไม่ต้องหวั่นใจ เพราะสำนักงานประกันสังคมยืนยันพร้อมจ่ายชดเชยทุกกรณี มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40

สำนักงานประกันสังคม คุ้มครองผู้ประกันตนทั้งในเรื่องประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย ทั้งจากการทำงานและไม่ทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ โดยในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แบบนี้ สำนักงานประกันสังคมพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ประกันตนทุกมาตรา ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์ไหนก็ครอบคลุมทุกสายพันธุ์

เปิดเงื่อนไข ผู้ประกันตน ม.33-39-40 ยื่นขอเบิกรับเงินทดแทนการขาดรายได้ หลังหายป่วยโรคโควิด-19 เบิกได้เท่าไร เอกสารอะไรบ้างที่ต้องใช้ 

วันที่ 15 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33, 39 และ 40 สามารถยื่นขอเบิก “เงินขาดรายได้” หลังหายจากอาการป่วยได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

เงินขาดรายได้ คืออะไร

เงินทดแทนการขาดรายได้ คือ เงินที่ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะได้รับ หลังจากเจ็บป่วยและต้องรักษาตัวตามแพทย์สั่ง ทำให้ไม่มีรายได้ ในกรณีของผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินดังกล่าวได้ภายใน 2 ปี ผ่าน 2 ช่องทาง คือ

  • ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
  • ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กรอกข้อมูล พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จากนั้นส่งไปยังสำนักงานประกันสังคม และทางสำนักงานจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตน
เงื่อนไขขอเบิกเงินขาดรายได้

ลูกจ้างระบบประกันสังคมจะต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเจ็บป่วย (ส่งแบบติดต่อกันหรือไม่ก็ได้) โดยจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน เมื่อลาป่วย 30 วัน

แต่หากมีการลาเกิน 30 วัน จะได้รับทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในรอบ 1 ปี ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง สามารถรับเงินทดแทนขาดรายได้ใน 1 ปี ไม่เกิน 365 วัน

โรคเรื้อรัง 6 รายการ ได้แก่

  1. โรคมะเร็ง
  2. โรคไตวายเรื้อรัง
  3. โรคเอดส์
  4. โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต
  5. ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน
  6. โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน ระหว่างการรักษาทำงานไม่ได้ ให้ยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์
เอกสารที่ต้องใช้
  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)
  2. ใบรับรองแพทย์
  3. หนังสือรับรองจากนายจ้าง
  4. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
  5. สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ
  6. หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
  7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ–เลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) มี 9 ธนาคาร ดังนี้
    • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (เริ่มใช้ 1 มกราคม 2550)
    • ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เดิมคือธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

Cr.บทความรูปภาพจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/ https://web.facebook.com/ssofanpage?_rdc=1&_rdr